การปรับปรุงบำรุงดินเปรี้ยวจัด
..ความหมายของการปรับปรุงบำรุงดิน
..วิธีการปรับปรุงบำรุงดิน
..สภาพปัญหาของดิน
..การแจกกระจายพื้นที่ความอุดมสมบูรณ์ดิน
..การใช้ประโยชน์พื้นที่ในปัจจุบัน
..แนวทางการปรับปรุงบำรุงดิน
..สรุปและข้อเสนอแนะ
..สอบถามเพิ่มเติม
..มาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ของกรมพัฒนาที่ดิน
   
ความหมายของการปรับปรุงบำรุงดิน

.........ดินเป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อการเกษตร เนื่องจากดินเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตของพืช โดยทั่วไปดินที่มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช คือ ดินที่อุดมสมบูรณ์ มีแร่ธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของพืช ขณะเดียวกันก็มีสมบัติทางกายภาพที่เหมาะสมสำหรับเป็นที่ยึดเกาะของรากพืช ช่วยยึดลำต้นให้แน่น ไม่ให้ล้มเอียง และยังทำหน้าที่เก็บกักน้ำเพื่อการเจริญเติบโตของพืช ให้อากาศแก่รากพืชเพื่อการหายใจ ดินในธรรมชาติมีการเรียงตัวเป็นชั้นต่อเนื่องกันอย่างกลมกลืน โดยชั้นดินบนเป็นชั้นที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกอย่างยิ่ง องค์ประกอบและสัดส่วนของดินในอุดมคติต่อการเจริญเติบโตของพืช คือ อนินทรียวัตถุ อินทรียวัตถุ น้ำหรือสารละลาย และอากาศ ซึ่งมีสัดส่วนเท่ากับ 45 5 25 และ 25 เปอร์เซ็นต์ โดยปริมาณ หรือปริมาตร

.........ดินในแต่ละชั้นมีสัดส่วนขององค์ประกอบภายในดินไม่เท่ากัน เช่น อินทรียวัตถุจะพบเป็นสัดส่วนที่มากในดินบน แต่ที่พบได้น้อยในดินล่าง และน้ำอาจพบเป็นสัดส่วนที่มากในดินล่างมากกว่าดินบน อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบของดินชั้นบนซึ่งเหมาะสมต่อการเพาะปลูกพืช ประกอบด้วย
.........1. อนินทรียวัตถุ เป็นองค์ประกอบส่วนที่เป็นแร่ในดิน เกิดจากการผุพังสลายตัวของหินและแร่ อนินทรียวัตถุในดินเป็นองค์ประกอบหลักที่แสดงถึงลักษณะทางกายภาพของดิน เช่น เนื้อดิน (soil texture) นอกจากนี้ อนินทรียวัตถุยังเป็นแหล่งธาตุอาหารพืช แหล่งอาศัยและแหล่งดำเนินกิจกรรมของจุลินทรีย์ในดิน โดยอนุภาคดินเหนียว (clay particle) เป็นส่วนสำคัญที่สุดในการเกิดกระบวนการทางเคมีในดิน ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามชนิดและปริมาณของอนุภาคดินเหนียวในดิน
.........2. อินทรียวัตถุ เกิดจากการเน่าเปื่อยผุพัง หรือการสลายตัวของเศษซากพืชและสัตว์ อินทรียวัตถุเป็นแหล่งธาตุอาหารพืชและแหล่งอาหารของจุลินทรีย์ในดิน มีความสำคัญต่อสมบัติด้านต่างๆ ของดิน ทั้งทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ ที่สำคัญได้แก่ การทำให้อนุภาคดินจับตัวกันเป็นเม็ดดิน เม็ดดินจับตัวกันเป็นก้อนดิน ทำให้เกิดเป็นโครงสร้างที่ดีและร่วนซุย ถ่ายเทอากาศได้สะดวกและระบายน้ำได้ดี ทำให้ดินมีความสามารถในการอุ้มน้ำ ดูดซับธาตุอาหารพืชได้สูง ช่วยเพิ่มความต้านทานการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรด-ด่างของดิน ช่วยลดความเป็นพิษของเหล็ก อะลูมินัม และแมงกานีสให้น้อยลง
.........3. น้ำ หรือ สารละลายพบอยู่ในช่องว่างระหว่างเม็ดดินหรืออนุภาคดิน (pore space) น้ำจึงเป็นตัวกลางสำหรับทำปฏิกิริยาทางเคมีในดิน ช่วยละลายธาตุอาหารต่างๆ ในดิน รวมทั้งช่วยในการดูดซึมและเคลื่อนย้ายธาตุอาหารพืช ซึ่งปริมาณน้ำในดินเกี่ยวข้องกับปริมาณอินทรียวัตถุในดิน เนื้อดิน ขนาดของช่องว่างในดิน และโครงสร้างของดิน เมื่อดินได้รับน้ำจากฝนหรือน้ำชลประทาน ช่วงแรกๆน้ำในดินจะอยู่เต็มช่องว่างภายในดิน เมื่อเวลาผ่านไปน้ำในช่องว่างขนาดใหญ่จะระบายออกจากดิน เหลือเฉพาะน้ำในช่องว่างขนาดเล็กซึ่งเป็นน้ำที่พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ แต่หากดินขาดน้ำเป็นเวลานานน้ำในช่องว่างขนาดเล็กถูกใช้หมด จะคงเหลือเฉพาะน้ำที่เคลือบเม็ดดินเป็นแผ่นบางๆ และหากรากพืชมีแรงดูดซับน้ำส่วนนี้น้อยกว่าดิน พืชจะไม่สามารถดูดน้ำได้ทำให้พืชแสดงอาการเหี่ยว
.........4. อากาศ พบอยู่ในช่องว่างระหว่างเม็ดดินหรืออนุภาคดิน ซึ่งโดยทั่วไปประกอบด้วย ก๊าซไนโตรเจน ออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ โดยก๊าซไนโตรเจนในดินจะมีความเข้มข้นใกล้เคียงกับที่มีอยู่ในอากาศ ส่วนก๊าซออกซิเจนจะมีน้อยกว่าในบรรยากาศ ขณะที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะมีมากกว่าในบรรยากาศ ซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากกระบวนการหายใจของรากพืชและจุลินทรีย์ในดิน สำหรับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในดินเมื่อรวมกับน้ำจะได้กรดคาร์บอนิก (H2CO3) ซึ่งมีความสำคัญต่อกระบวนการทางเคมีในดิน และเป็นแหล่งคาร์บอนให้แก่จุลินทรีย์บางชนิดในดิน ส่วนก๊าซไนโตรเจนจะเป็นแหล่งไนโตรเจนให้แก่จุลินทรีย์บางชนิด อากาศในดินมักจะอยู่ในช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างเม็ดดิน ในดินที่มีน้ำขัง ดินจะอยู่ในสภาพไม่มีอากาศ ซึ่งพืชปกติโดยทั่วไปไม่สามารถเจริญเติบโตได้เนื่องจากรากพืชขาดอากาศ รวมถึงจุลินทรีย์ชนิดที่ต้องการก๊าซออกซิเจนก็ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ด้วยเช่นกัน

ความหมายของการปรับปรุงบำรุงดิน
.........หมายถึง การพัฒนาที่ดินที่ไม่เหมาะสมต่อการเกษตรให้สามารถใช้ทำการเพาะปลูกให้เจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ตามปกติ หรือ ปรับปรุงบำรุงดินให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะในการปลูกพืชให้เจริญเติบโตและให้ผลผลิตดีอย่างยั่งยืน การทำการเกษตรติดต่อกันเป็นระยะเวลานานโดยขาดการปรับปรุงบำรุงดิน เช่น การเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน จะส่งผลต่อสมบัติของดินทั้งทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ ทำให้ไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช โดยหลักการปรับปรุงบำรุงดิน คือ การจัดการเพื่อมุ่งสู่การทำให้ดินอยู่ในสภาพที่เหมาะสมสำหรับพืชที่ต้องการปลูก ในดินเดียวกันหากปลูกพืชต่างชนิดกัน อาจจะมีรายละเอียดของการปรับปรุงดินต่างกัน ดั้งนั้น ควรมีการตรวจสอบดินและวิเคราะห์ดินซึ่งจะนำไปสู่วิธีการปรับปรุงบำรุงดิน

   
วิธีการปรับปรุงบำรุงดิน
.........เป็นการช่วยให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ และช่วยเพิ่มความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารพืชด้วยวิธีการต่างๆ ดังนี้
.........1. การปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยแร่ธาตุ แบ่งออก เป็น 2 กลุ่ม
............- กลุ่มที่ 1 ปุ๋ยแร่ธาตุที่ได้จากหินและแร่ธรรมชาติ คือ หินฟอสเฟต และแร่ซิลไวท์ เช่น ปุ๋ยโพแทสเซียม ฯลฯ
............- กลุ่มที่ 2 ปุ๋ยแร่ธาตุที่ได้จากการผลิตโดยวิธีการทางเคมี เช่น ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต ปุ๋ยทริปเปิ้ลซูเปอร์ฟอสเฟต ฯลฯ
......... ปุ๋ยแร่ธาตุทั้ง 2 กลุ่มนี้ จะช่วยเพิ่มปริมาณธาตุอาหารให้ดินตามระยะเวลาที่พืชต้องการ เพื่อนำไปสร้างการเจริญเติบโตและผลผลิตได้ทันความต้องการของพืช
......... 2. การปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และปุ๋ยพืชสด
............ 2.1 ปุ๋ยหมัก ใช้เพื่อเพิ่มหรือยกระดับปริมาณอินทรียวัตถุในดิน ช่วยปรับปรุงโครงสร้างดินให้ดีขึ้น ทำให้ดินมีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชมากยิ่งขึ้น

............2.2 ปุ๋ยคอก ใช้เพื่อปรับปรุงโครงสร้างของดินให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช ทำให้ดินมีการระบายน้ำและอากาศดีขึ้น ช่วยเพิ่มความคงทนของการจับตัวเป็นเม็ดดิน และเป็นแหล่งอาหารให้แก่จุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดิน
............2.3 ปุ๋ยพืชสด ได้จากการไถกลบพืชปุ๋ยสดในขณะที่ยังเขียวสดอยู่ลงดิน นิยมไถกลบในช่วงออกดอกเพื่อให้ได้ปริมาณน้ำหนักสดและธาตุอาหารสูง ปล่อยทิ้งไว้ให้ย่อยสลายระยะเวลา 7-14 วัน จะให้ธาตุอาหารและอินทรียวัตถุแก่ดิน จึงทำการปลูกพืชหลักที่ต้องการ พืชปุ๋ยสดที่นิยมปลูก ได้แก่ พืชตระกูลถั่วชนิดต่างๆ เช่น ปอเทือง (Crotalaria juncea) ถั่วพร้า (Canavalia spp.) ถั่วพุ่ม (Vigna spp.) ถั่วมะแฮะ (Cajanus cajan) และโสนอัฟริกัน (Sesbania rostratra) ควรเลือกพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ดังนี้
............สภาพพื้นที่ลุ่ม ดินมีการระบายน้ำไม่ดี เลือกชนิดพืชที่ทนต่อน้ำขัง คือ โสนอัฟริกัน
............สภาพพื้นที่ดอน ดินมีการระบายน้ำและอากาศดี ควรปลูก ปอเทือง ถั่วพุ่ม ถั่วพร้า และ ถั่วมะแฮะ

.........3. การปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยชีวภาพ (Biofertilizer) เป็นปุ๋ยที่ได้จากวัสดุที่มีจุลินทรีย์ที่มีชีวิต ซึ่งเป็นตัวช่วยสร้างหรือปลดปล่อยธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ให้กับพืช แยกตามชนิดของจุลินทรีย์ ดังนี้
............ 3.1 จุลินทรีย์ที่ให้ธาตุไนโตรเจน เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่ตรึงไนโตรเจนจากอากาศ เพื่อให้พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้ จุลินทรีย์ในกลุ่มนี้ เช่น Azotobacter sp., Bacillus sp. สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน เชื้อไรโซเบียม ฯลฯ
............ 3.2 จุลินทรีย์ที่ให้ธาตุฟอสฟอรัส เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่ละลายสารประกอบฟอสเฟตให้เป็นประโยชน์และพืชสามารถนำไปใช้ได้ จุลินทรีย์ในกลุ่มนี้ เช่น Flavobacterium sp., Pseudomonas sp. ฯลฯ และกลุ่มจุลินทรีย์ที่ช่วยละลายและดูดซับธาตุฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ให้กับพืชมากขึ้น เช่น เชื้อราไมโคไรซ่า
............ 3.3 จุลินทรีย์ที่ให้ธาตุโพแทสเซียม เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่ปลดปล่อยกรดออกมา เพื่อละลาย แร่ในกลุ่มไมก้า และแร่ในกลุ่มเฟลด์ปาร์ จุลินทรีย์ในกลุ่มนี้ เช่น Bacillus, biotite และ microcline ช่วยเปลี่ยนธาตุโพแทสเซียมให้อยู่ในรูปที่พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้
............ 3.4 จุลินทรีย์ที่ผลิตฮอร์โมน เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่ผลิตฮอร์โมนและวิตามิน ซึ่งเป็นสารช่วยกระตุ้นให้พืชเจริญเติบโตได้ดียิ่งขึ้น จุลินทรีย์ในกลุ่มนี้ เช่น Azospirillum, Azotobacter และ Bacillus

.........4. การปรับปรุงบำรุงดินด้วย การไถกลบตอซัง เป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน ช่วยปรับปรุงบำรุงดินทั้งด้านกายภาพ เคมี และชีวภาพของดินก่อให้เกิดผลดี ดังนี้
............4.1 ปรับปรุงสมบัติทางกายภาพของดิน ช่วยทำให้ดินโปร่ง ร่วนซุย ง่ายต่อการเตรียมดิน การระบายอากาศในดินเพิ่มขึ้น การซึมผ่านของน้ำและการอุ้มน้ำของดินดีขึ้น
............4.2 ปรับปรุงสมบัติทางเคมีของดิน ช่วยให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ด้วยการเพิ่มธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และจุลธาตุให้แก่ดิน ซึ่งธาตุอาหารเหล่านี้จะปลดปล่อยสู่ดินจึงเป็นประโยชน์ต่อพืชได้ระยะยาว
............4.3 ปรับปรุงสมบัติทางชีวภาพของดิน ช่วยทำให้ปริมาณและกิจกรรมจุลินทรีย์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงธาตุอาหารในดินให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช
   
สภาพปัญหาของดิน
.........จากการใช้ประโยชน์ที่ดินติดต่อกันเป็นเวลานาน และขาดการปรับปรุงบำรุงดิน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ลดลง ศักยภาพในการผลิตลดลงไม่เอื้ออำนวยต่อผลการผลิตทางการเกษตร เกิดความเสื่อมโทรมของดิน เนื่องจากมีสมบัติทางกายภาพ ทางเคมี และทางชีวภาพไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช ส่งผลให้สิ้นเปลืองต้นทุนการเกษตรสูงขึ้น โดยได้ปริมาณผลผลิตคงที่หรือลดลง ซึ่งเป็นปัญหาที่เกษตรกรประสบในปัจจุบัน
ดินปัญหา หมายถึง ดินที่มีสมบัติไม่เหมาะสม (unsuited) หรือ เหมาะสมน้อย (poorly suited) สำหรับการเพาะปลูกทางการเกษตร หากนำดินเหล่านั้นมาใช้ปลูกพืชจะไม่ได้ผลผลิตหรือได้ผลผลิตต่ำ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการจัดการดินเป็นกรณีพิเศษกว่าดินทั่วไป จึงจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกและให้ผลผลิตดีเท่าที่ควร ดินปัญหาทางการเกษตร จำแนกตามสาเหตุของการเกิด ได้เป็น 2 ประเภทดังนี้
......... 1. ดินปัญหาที่เกิดตามสภาพธรรมชาติ หมายถึง ดินปัญหาที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติอันเนื่องมาจากปัจจัยที่ให้กำเนิดดิน ซึ่งประกอบด้วย วัตถุต้นกำเนิดดิน สภาพพื้นที่ สภาพภูมิอากาศ พืชพรรณที่ขึ้นปกคลุม และระยะเวลาที่เกิดดิน ดินปัญหาที่เกิดตามสภาพธรรมชาติ ได้แก่ ดินเปรี้ยวจัดหรือดินกรดกำมะถัน ดินอินทรีย์ ดินเค็ม ดินทราย และดินตื้น ซึ่งดินที่มีปัญหาบางชนิด การแก้ไขจัดการเพียงเล็กน้อยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ที่ดินได้ แต่บางพื้นที่อาจมีปัญหาดินมากกว่าหนึ่งอย่าง เช่น ปัญหาดินทรายหรือปัญหาดินตื้นจะมีปัญหาดินคือมีปฏิกิริยาเป็นกรดร่วมด้วย การแก้ไขจำเป็นต้องแก้ไขร่วมกันทุกปัญหา จึงจะทำให้การใช้ที่ดินเกิดความยั่งยืน
......... 2. ดินปัญหาที่เกิดจากการใช้ประโยชน์ที่ดิน หมายถึง ดินที่เกิดจากการปฏิบัติ หรือการใช้ที่ดินที่ไม่เหมาะสมของมนุษย์ ได้แก่ การปลูกพืชโดยปราศจากการบำรุงรักษาดิน การปลูกพืชชนิดเดียวกันติดต่อกันเป็นเวลานาน การทำลายป่าเพื่อการเกษตร การเผาป่า หรือ ไร่นา การใช้สารเคมีทางการเกษตรจนเกิดผลตกค้างในดิน การใช้เครื่องจักรกลการเกษตรขนาดใหญ่ เป็นตัวเร่งทำให้ดินเกิดการเสื่อมโรม เกิดการสะสมธาตุอาหาร
สารเคมีชนิดต่างๆ จนเป็นพิษต่อพืช โครงสร้างดินอัดแน่นทึบ เป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของพืช ดินปัญหาที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ได้แก่ ดินดาน ดินปนเปื้อน ดินเหมืองแร่ร้าง และดินในพื้นที่นากุ้งร้าง
   
การแจกกระจายพื้นที่ความอุดมสมบูรณ์ดิน
......... ความอุดมสมบูรณ์ของดิน (soil fertility) เป็นสิ่งบ่งชี้ถึงผลิตภาพดิน (soil productivity) เป็นความสามารถของดินในการให้ผลผลิตพืชภายใต้การจัดการแบบหนึ่งหรือระบบหนึ่ง คณาจารย์ภาควิชาปฐพีวิทยา (2548) ได้ให้นิยามความอุดมสมบูรณ์ของดิน หมายถึง ความสามารถของดินในการให้ธาตุอาหารที่จำเป็นเพื่อการเจริญเติบโตของพืช กล่าวคือเมื่อธาตุอาหารในดินที่อยู่ในรูปที่พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มีปริมาณที่พอเหมาะและสมดุล จะช่วยให้พืชมีการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตที่ดี การรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินจึงถือเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึง โดยเฉพาะในพื้นที่ทำการเพาะปลูกทางการเกษตรเพื่อการค้า การใช้ประโยชน์ที่ดินจากอดีตจนถึงปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งเกิดจากธรรมชาติและกิจกรรมของมนุษย์ ส่งผลให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลง เห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงสมบัติของดินทั้งทางเคมี กายภาพ และชีวภาพ เช่น ปริมาณอินทรียวัตถุลดลง ส่งผลให้ดินมีความสามารถในการดูดยึดธาตุอาหารพืชในดินลดลง ความสามารถในการอุ้มน้ำลดลง ความหนาแน่นรวมของดินสูงขึ้น ความพรุนของดินลดลง นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนสภาพป่าเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรส่งผลต่อระบบการหมุนเวียนธาตุอาหารซึ่งสะสมอยู่ในรูปมวลชีวภาพของพืช และเมื่อมีการนำผลผลิตออกไปจากพื้นที่ ทำให้สูญเสียธาตุอาหารไปด้วยส่งผลให้ระบบสำรองธาตุอาหารพืชลดลง และในบางกรณีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินทำให้ดินมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดจากการจัดการดินส่งผลให้ปฏิกิริยาของดินเป็นกรดเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดผลกระทบต่อความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารพืช โดยเฉพาะธาตุฟอสฟอรัสจะอยู่ในรูปที่พืชไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ หรือบางพื้นที่มีการสูญเสียหน้าดินจากการชะล้างพังทลาย และการปลูกพืชติดต่อกันเป็นระยะเวลานานโดยไม่มีการปรับปรุงบำรุงดินก็ล้วนแต่ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินมีการเปลี่ยนแปลงที่ลดลง
......... สถานภาพความอุดมสมบูรณ์ของดินในประเทศไทย จากผลการวิเคราะห์ระดับประเมินความอุดมสมบูรณ์ของดินปี 2547-2552 ซึ่งผลการวิเคราะห์ใช้เกณฑ์ประเมินเป็นค่าสูง กลาง และต่ำ พบว่าทรัพยากรดินในประเทศไทยส่วนใหญ่มีความอุดมสมบูรณ์ในระดับต่ำ โดยระดับความอุดมสมบูรณ์ดินในแต่ละภาคของประเทศแตกต่างกันนั้นสัมพันธ์กับสาเหตุทางธรรมชาติของดิน และเกิดจากการใช้ที่ดินที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เช่น การชะล้างพังทลายของดิน ดินขาดอินทรียวัตถุ หรืออาจเป็นปัญหาที่เกิดจากสภาพธรรมชาติของดินร่วมกับการกระทำของมนุษย์ เช่น ดินเค็ม ดินเปรี้ยว ดินอินทรีย์ ดินทราย และดินตื้น ดังนี้
.........  1. สถานภาพความอุดมสมบูรณ์ของดินในภาคเหนือ พบว่า ความอุดมสมบูรณ์ของดินส่วนใหญ่ถูกจัดอยู่ในระดับปานกลางคิดเป็นร้อยละ 70.43 ของจำนวนข้อมูลทั้งหมดในภาค รองลงมาคือพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ระดับต่ำร้อยละ 25.10 และมีบางพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ในระดับสูงร้อยละ 4.47
.........  2. สถานภาพความอุดมสมบูรณ์ของดินในภาคกลาง พบว่า ความอุดมสมบูรณ์ของดินส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลางคิดเป็นร้อยละ 58.95 รองลงมาคือความอุดมสมบูรณ์ในระดับสูงคิดเป็นร้อยละ 29.86 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับภาคอื่นๆ แล้ว ดินภาคกลางมีสัดส่วนของข้อมูลที่ให้ความอุดมสมบูรณ์ในระดับสูงมากกว่าดินภาคอื่นๆ อีกทั้งมีสัดส่วนของดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ในระดับต่ำที่ต่ำสุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ ทั้งนี้เนื่องจากสภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่ม วัตถุต้นกำเนิดดินส่วนใหญ่เป็นพวกตะกอนน้ำพัดพา ดินในแถบพื้นที่ภาคกลางจึงมีระดับความอุดมสมบูรณ์สูงซึ่งมีศักยภาพทางการเกษตรสูงในระดับสูงค่อนข้างสูงด้วย ประกอบกับพื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่อยู่ภายใต้ระบบชลประทานการใช้ประโยชน์ที่ดินจึงมีประสิทธิภาพมากกว่าภาคอื่นๆ แม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องดินเปรี้ยวอยู่บ้าง
.........  3. สถานภาพความอุดมสมบูรณ์ของดินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า ความอุดมสมบูรณ์ของดินส่วนใหญ่อยู่ในระดับต่ำคิดเป็นร้อยละ 71.53 ของจำนวนข้อมูลทั้งหมดในภาค ทั้งนี้เนื่องจากดินภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนใหญ่เป็นดินทรายที่เกิดจากการสลายตัวผุพังของหินทรายทำให้ดินมีปริมาณของอนุภาคทรายสูง มีปริมาณอนุภาคดินเหนียว (clay particle) และอินทรียวัตถุในดิน (soil organic) ต่ำ นอกจากสาเหตุทางธรรมชาติแล้ว พบว่ากิจกรรมของมนุษย์ก็ส่งผลต่อระดับความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยในอดีตมากกว่า 50 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินจากระบบนิเวศน์ป่าไม้มาเพื่อทำการเกษตร โดยเฉพาะระบบการเกษตรเชิงเดี่ยวซึ่งเป็นระบบที่ขาดการปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทำให้ปริมาณธาตุอาหารขาดความสมดุลเปลี่ยนแปลงไป
.........  4. สถานภาพความอุดมสมบูรณ์ของดินในภาคตะวันออก ได้รับอิทธิพลจากการเป็นตะกอนลำน้ำจากแม่น้ำปราจีนบุรี แม่น้ำจันทบุรี และแม่น้ำโตนเลสาบ แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ในระดับปานกลางถึงสูง พบว่า ความอุดมสมบูรณ์ของดินอยู่ในระดับปานกลางคิดเป็นร้อยละ 47.95 และความอุดมสมบูรณ์ในระดับสูงร้อยละ 4.40 และความอุดมสมบูรณ์ของดินอยู่ในระดับต่ำคิดเป็นร้อยละ 47.66 โดยส่วนหนึ่งเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำเนื่องจากเป็นดินทราย ที่เกิดจากการสลายตัวของหินทราย
.........  5. สถานภาพความอุดมสมบูรณ์ของดินในภาคใต้ ส่วนใหญ่มีความอุดมสมบูรณ์ในระดับต่ำ เนื่องจากภาคใต้มีฝนตกชุกมากเกือบตลอดทั้งปี ดังนั้นกระบวนการสลายตัวผุพัง (weathering process) ของวัตถุต้นกำเนิดจึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีการชะล้างสูงทำให้แร่ธาตุในดินสลายตัวและแปรสภาพเป็นแร่ดินเหนียวจำพวกเคโอลิไนท์ (kaolinite) ที่มีธาตุอาหารพืชน้อย และธาตุอาหารถูกชะล้างออกไปจากดินตลอดเวลาเมื่อฝนซึมลงสู่ดิน โดยพบว่า ความอุดมสมบูรณ์ของดินส่วนใหญ่อยู่ในระดับต่ำคิดเป็นร้อยละ 67.28 ของจำนวนข้อมูลทั้งหมดในภาค และมีพื้นที่บางส่วนเป็นดินที่ความอุดมสมบูรณ์อยู่ในระดับปานกลาง และระดับสูงคิดเป็นร้อยละ 32.09 และ ร้อยละ 0.63 ตามลำดับ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำทำให้มีวัตถุต้นกำเนิดดินเป็นตะกอนลำน้ำ
   
การใช้ประโยชน์พื้นที่ในปัจจุบัน
......... จากการสำรวจและจัดทำแผนที่การใช้ที่ดินของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2553-2556 พบว่าประเทศไทยมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 320.67 ล้านไร่ สามารถแบ่งตามสภาพการใช้ที่ดินหลักได้ 5 ประเภท ดังนี้
......... 1. พื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง มีเนื้อที่ประมาณ 16.52 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 5.15 ของเนื้อที่ประเทศ และพบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้างมากที่สุดประมาณ 5.44 ล้านไร่ และภาคตะวันออกมีพื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้างน้อยที่สุดประมาณ 1.54 ล้านไร่ แต่เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับพื้นที่ของแต่ละภาค พบว่า ภาคกลางมีความหนาแน่นของพื้นที่ชุมชนมากที่สุด ซึ่งจะกระจุกรวมตัวกันบริเวณกรุงเทพฯและปริมณฑล รองลงมาภาคตะวันออก และภาคเหนือเป็นภาคที่มีความหนาแน่นของชุมชนและสิ่งปลูกสร้างน้อยที่สุด
......... 2. พื้นที่เกษตรกรรม มีการใช้ที่ดินที่มีเนื้อที่มากที่สุดประมาณ 174.31 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 54.36 ของเนื้อที่ประเทศ พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่เกษตรกรรมมากที่สุดประมาณ 71.68 ล้านไร่ รองลงมา ได้แก่ ภาคเหนือ 41.57 ล้านไร่ และภาคตะวันออกมีพื้นที่เกษตรกรรมน้อยที่สุดประมาณ 13.48 ล้านไร่ และเมื่อพิจารณาประเภทการใช้ที่ดินของพื้นที่เกษตรกรรมสามารถแบ่งได้ 7 กลุ่ม ดังนี้
.............1) พื้นที่นาข้าว มีเนื้อที่ประมาณ 77.11 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 24.04 ของเนื้อที่ประเทศ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคที่มีพื้นที่นาข้าวมากสุด 45.84 ล้านไร่ รองลงมาภาคเหนือ มีพื้นที่นาข้าว 17.17 ล้านไร่ และภาคใต้เป็นภาคที่มีพื้นที่นาข้าวน้อยที่สุด 2.16 ล้านไร่
.............2) พื้นที่พืชไร่ มีเนื้อที่ประมาณ 40.17 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 12.70 ของเนื้อที่ประเทศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคที่มีพื้นที่พืชไร่มากสุด 17.26 ล้านไร่ รองลงมา ได้แก่ ภาคเหนือ มีเนื้อที่ 13.33 ล้านไร่ และภาคใต้เป็นภาคที่มีพื้นที่พืชไร่น้อยสุด 0.09 ล้านไร่ โดยมีพืชไร่ที่สำคัญ ดังนี้
................(1) อ้อย มีเนื้อที่เพาะปลูกประมาณ 14.46 ล้านไร่ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเนื้อที่เพาะปลูกมากสุด แหล่งเพาะปลูกที่สำคัญคือ จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา และอุดรธานี รองลงมา ได้แก่ ภาคกลางแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญคือ จังหวัดลพบุรี กาญจนบุรี และสุพรรณบุรี และในภาคเหนือแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญคือ จังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์
................(2) มันสำปะหลัง มีเนื้อที่เพาะปลูกประมาณ 12.90 ล้านไร่ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเนื้อที่เพาะปลูกมากสุด แหล่งเพาะปลูกที่สำคัญคือ จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ และอุดรธานี รองลงมา ได้แก่ภาคเหนือแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญคือ จังหวัดกำแพงเพชร นครสวรรค์ และเพชรบูรณ์ และในภาคตะวันออกแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญคือ จังหวัดสระแก้ว ฉะเชิงเทรา และชลบุรี
................(3) ข้าวโพด มีเนื้อที่เพาะปลูกประมาณ 8.64 ล้านไร่ โดยภาคเหนือมีเนื้อที่เพาะปลูกมากที่สุดแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญคือ จังหวัดเพชรบูรณ์ เชียงรายและน่าน รองลงมา ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญคือ จังหวัดเลย ชัยภูมิ และนครราชสีมา และในภาคกลางแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญคือ จังหวัดสระบุรี กาญจนบุรี และลพบุรี
............. 3) พื้นที่ไม้ยืนต้น มีเนื้อที่ประมาณ 36.43 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 11.36 ของเนื้อที่ประเทศ ภาคใต้เป็นภาคที่มีเนื้อที่ไม้ยืนต้นมากที่สุด 20.99 ล้านไร่ รองลงมา ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6.49 ล้านไร่ และภาคกลางเป็นภาคที่มีเนื้อที่ไม้ยืนต้นน้อยที่สุด 1.66 ล้านไร่ โดยมีไม้ยืนต้นที่สำคัญ ดังนี้
................(1) ยางพารา มีเนื้อที่เพาะปลูกประมาณ 24.83 ล้านไร่ โดยภาคใต้มีเนื้อที่เพาะปลูกมากที่สุด แหล่งเพาะปลูกที่สำคัญคือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี สงขลา และนครศรีธรรมราช รองลงมา ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แหล่งเพาะปลูกที่สำคัญคือ จังหวัดอุดรธานี อุบลราชธานี และเลย และในภาคตะวันออก แหล่งเพาะปลูกที่สำคัญคือ จังหวัดระยอง จันทบุรี และฉะเชิงเทรา
................(2) ปาล์มน้ำมัน มีเนื้อที่เพาะปลูกประมาณ 4.71 ล้านไร่ โดยภาคใต้มีเนื้อที่เพาะปลูกมากที่สุด แหล่งเพาะปลูกที่สำคัญคือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี กระบี่ และชุมพร รองลงมา ได้แก่ ภาคตะวันออก แหล่งเพาะปลูกที่สำคัญคือ จังวัดชลบุรี ตราด และระยอง และในภาคกลาง แหล่งเพาะปลูกที่สำคัญคือ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และราชบุรี
................(3) ยูคาลิปตัส มีเนื้อที่เพาะปลูกประมาณ 4.33 ล้านไร่ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเนื้อที่เพาะปลูกมากที่สุด แหล่งปลูกที่สำคัญคือ จังหวัดนครราชสีมา อุดรธานี และบุรีรัมย์ รองลงมา ได้แก่ ภาคตะวันออก แหล่งเพาะปลูกที่สำคัญคือ จังหวัดสระแก้ว ปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา และในภาคกลางแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญคือ จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี
.............  4) พื้นที่ไม้ผล มีเนื้อที่ประมาณ 11.23 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 3.50 ของเนื้อที่ประเทศ ภาคเหนือเป็นภาคที่มีเนื้อที่เพาะปลูกมากที่สุด 3.50 ล้านไร่ รองลงมา ภาคใต้ 2.51 ล้านไร่ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคที่มีเนื้อที่เพาะปลูกน้อยสุด 1.17 ล้านไร่ โดยมีไม้ผลที่สำคัญ ดังนี้
................ (1) ไม้ผลผสม หมายถึง พื้นที่ที่มีการปลูกไม้ผลร่วมกันมากกว่า 2 ชนิด มีเนื้อที่ประมาณ 4.10 ล้านไร่ โดยภาคใต้มีเนื้อที่เพาะปลูกมากที่สุด แหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ คือ จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช และนราธิวาส รองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง แหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ คือ จังหวัดกาญจนบุรี เพชรบุรี และสมุทรสาคร และในภาคเหนือ แหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ คือ จังหวัดเชียงใหม่ สุโขทัย และน่าน
................ (2) ลำไย มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 1.48 ล้านไร่ โดยภาคกลาง มีเนื้อที่เพาะปลูกมากที่สุด แหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ คือ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และเชียงราย รองลงมา ได้แก่ ภาคตะวันออก แหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ คือ จังหวัดจันทบุรี และภาคในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แหล่งเพาะปลูกที่สำคัญคือ จังหวัดเลย
................ (3) มะพร้าว มีเนื้อที่เพาะปลูกประมาณ 1.27 ล้านไร่ โดยภาคกลาง มีเนื้อที่เพาะปลูกมากที่สุด แหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ คือ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม และราชบุรี รองลงมา ได้แก่ ภาคใต้ แหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ คือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร และนครศรีธรรมราช และในภาคตะวันออก แหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ คือ จังหวัดสระแก้ว ปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา
.............   5) พื้นที่ไร่หมุนเวียน มีเนื้อที่ประมาณ 4.04 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.26 ของเนื้อที่ประเทศ พบในภาคเหนือเพียงภาคเดียว โดยเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ต่างๆ เช่น ข้าวโพด ข้าวไร่ และกะหล่ำปลี บนพื้นที่สูงซึ่งจะมีการพักแปลงปลูกไว้ 3-6 ปี เพื่อให้พื้นดินฟื้นตัวตามธรรมชาติ จึงย้อนกลับมาทำการเพาะปลูกใหม่ โยมีแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ ได้แก่ จังหวัดน่าน แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่
.............   6) พื้นที่สถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีเนื้อที่ประมาณ 2.90 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.91 ของเนื้อที่ประเทศ ภาคกลางเป็นภาคที่มีสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมากที่สุด 1.21 ล้านไร่ รองลงมา ได้แก่ ภาคตะวันออก 0.78 ล้านไร่ และภาคเหนือเป็นภาคที่มีสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำน้อยที่สุดประมาณ 0.08 ล้านไร่ โดยสัตว์น้ำที่สำคัญ ได้แก่ ปลา และกุ้ง
.............   7) พื้นที่เกษตรกรรมอื่นๆ ได้แก่ พืชสวน ทุ่งหญ้า และโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ พืชน้ำ และพื้นที่เกษตรผสมผสาน มีเนื้อที่ประมาณ 1.88 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.59 ของเนื้อที่ประเทศ ภาคกลางเป็นภาคที่มีพื้นที่เกษตรกรรมอื่นๆ มากที่สุด 0.64 ล้านไร่ รองลงมา ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 0.62 ล้านไร่ และภาคใต้เป็นภาคที่มีพื้นที่เกษตรกรรมอื่นๆ น้อยที่สุด ประมาณ 0.04 ล้านไร่
.........  3. พื้นที่ป่าไม้ จากการสำรวจปี พ.ศ. 2553-2556 พบว่า พื้นที่ป่าไม้มีเนื้อที่ประมาณ 109.26 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 34.06 ของเนื้อที่ประเทศ โดยภาคเหนือมีพื้นที่ป่าไม้มากที่สุดประมาณ 57.09 ล้านไร่ รองลงมา ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19.50 ล้านไร่ และภาคตะวันออกมีพื้นที่ป่าไม้น้อยที่สุด ประมาณ 4.91 ล้านไร่
.........  4. พื้นที่แหล่งน้ำ มีเนื้อที่ประมาณ 8.98 ล้านไร่ หรือ คิดเป็นร้อยละ 2.80 ของเนื้อที่ประเทศ พบว่าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่แหล่งน้ำมากที่สุดประมาณ 3.63 ล้านไร่ รองลงมา ได้แก่ ภาคใต้ 1.85 ล้านไร่ และภาคตะวันออกมีพื้นที่แหล่งน้ำน้อยที่สุด ประมาณ 0.56 ล้านไร่
.........  5. พื้นที่เบ็ดเตล็ด หมายถึง ทุ่งหญ้าธรรมชาติ ไม้ละเมาะ เหมือง ที่ทิ้งขยะ นาเกลือ หาดทราย และพื้นที่ถม มีเนื้อที่ประมาณ 11.63 ล้านไร่ หรือ คิดเป็นร้อยละ 3.63 ล้านไร่ ของเนื้อที่ประเทศ พบว่าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่เบ็ดเตล็ดมากที่สุดประมาณ 5.29 ล้านไร่ รองลงมา ได้แก่ ภาคเหนือ 2.01 ล้านไร่ และภาคตะวันออกมีพื้นที่เบ็ดเตล็ดน้อยที่สุด ประมาณ 1.00 ล้านไร่
   
แนวทางการปรับปรุงบำรุงดิน
.........  การใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมจำเป็นต้องมีการปรับปรุงบำรุงดินอย่างต่อเนื่อง ถูกวิธี และเหมาะสมตามลักษณะและสมบัติของดิน ในดินที่มีข้อจำกัด เช่น ดินเค็ม ดินเปรี้ยวจัด และดินดาน จำเป็นต้องมีการมีการจัดการเฉพาะเพื่อแก้ไขข้อจำกัดในดินนั้นก่อน แต่สำหรับดินทั่วๆไปการปรับปรุงบำรุงดินเพื่อให้เหมาะสมสำหรับพืชที่ต้องการปลูกและสภาพพื้นที่ปลูก ควรเริ่มต้นด้วยการตรวจสอบสมบัติของดินและการวิเคราะห์ดิน ทั้งนี้ ผลการตรวจสอบและการวิเคราะห์ดินดังกล่าวจะนำไปสู่วิธีการหรือแนวทางการปรับปรุงบำรุงดินที่เหมาะสมต่อไป โดยการปรับปรุงบำรุงดินแบ่งได้ ดังนี้
.........  1. การปรับปรุงดินทางกายภาพ คือ การปรับสภาพโครงสร้างของดินให้เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของรากพืช ทำให้มีช่องว่างสำหรับการระบายน้ำและการถ่ายเทอากาศได้ ซึ่งตามอุดมคติควรมีช่องว่างสำหรับน้ำและอากาศอยู่ราวครึ่งหนึ่งขององค์ประกอบดิน โดยทั่วไปการปรับปรุงดินให้มีช่องว่าง อาศัยการไถพรวนดิน แต่หากต้องการให้โครงสร้างดินมีช่องว่างในระดับที่เหมาะสมอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องอาศัยอินทรียวัตถุในดินในการสร้างเม็ดดินจนประกอบเป็นโครงสร้างดิน ดังนั้นการปรับปรุงบำรุงดินทางกายภาพ จึงจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อเพิ่มหรือรักษาระดับของอินทรียวัตถุในดินให้อยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม ในกรณีของดินเนื้อละเอียดผิวดินแน่นทึบมีการระบายน้ำไม่ดี หากต้องการจัดการดินให้สามารถระบายน้ำได้ดีขึ้น สามารถใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดต่างๆ ช่วยสามารถปรับปรุงโครงสร้างของดินได้ ขณะที่ ดินเนื้อหยาบไม่เก็บกักน้ำและธาตุอาหาร หากต้องการจัดการดินเพื่อให้ดินสามารถเก็บกักน้ำและธาตุอาหารได้ดีขึ้น สามารถใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดต่างๆ อาทิเช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 และการไถกลบตอซัง ซึ่งจะช่วยในการดูดซับน้ำและธาตุอาหารได้เช่นกัน
.........  2. การปรับปรุงบำรุงดินทางด้านเคมี คือ การปรับสภาพของดินให้สามารถรองรับกิจกรรมทางชีวเคมีของสิ่งมีชีวิตซึ่งรวมถึงพืชและต้นด้วย เป็นการทำให้ดินมีปริมาณธาตุอาหารที่เพียงพอและสมดุล ธาตุอาหารต่างๆ สามารถละลายและเป็นประโยชน์ได้ หรือการจัดการเพื่อลดโอกาสในการสูญเสียธาตุอาหาร ดังนั้น หากดินขาดความอุดมสมบูรณ์สามารถปริมาณธาตุอาหารได้ด้วยการใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ ทั้งนี้ ปริมาณปุ๋ยที่ใช้ควรสอดคล้องกันระหว่างปริมาณธาตุอาหารที่มีอยู่ในดิน ความต้องการธาตุอาหารของพืช และอัตราการสูญเสียปุ๋ยของดิน จึงควรมีการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน กรณีดินมีความเป็นกรด-ด่างไม่เหมาะสมต่อชนิดพืช เช่นถ้าดินเป็นกรด ควรแก้ไขด้วยการใส่ปูนเพื่อยกระดับค่าความเป็นกรด-ด่างของดินให้สูงขึ้น ทำให้ธาตุอาหารละลายออกมาง่ายขึ้น หรือหากดินมีปัญหาการตรึงธาตุอาหาร หรือธาตุอาหารอยู่ในรูปที่ละลายได้ยาก สามารถจัดการด้วยการใช้ปุ๋ยชีวภาพ ในการช่วยการละลายธาตุอาหารได้
.........  3. การปรับปรุงบำรุงดินด้านชีวภาพ โดยการใช้ปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งเป็นปุ๋ยที่ประกอบด้วยจุลินทรีย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ และมีคุณสมบัติพิเศษสามารถสังเคราะห์สารประกอบธาตุอาหารพืชได้เอง หรือสามารถเปลี่ยนธาตุอาหารพืชที่อยู่ในรูปที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อพืช ให้มาอยู่ในรูปที่พืชสามารถดูดไปใช้ประโยชน์ได้ การปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยชีวภาพ อาทิเช่น
...........  1) ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ คือ ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผ่านกระบวนการผลิต ที่ใช้อุณหภูมิสูงถึงระดับที่สามารถฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ ทั้งที่เป็นโรคพืช โรคสัตว์ และโรคมนุษย์ รวมทั้งจุลินทรีย์ทั่วๆไปด้วย จากนั้นนำจุลินทรีย์ที่มีสมบัติเป็นปุ๋ยชีวภาพที่เลี้ยงไว้ในสภาพที่ปลดปล่อยเชื้อมาผสมกับปุ๋ยอินทรีย์ดังกล่าว และทำการหมักต่อไปจนกระทั่งจุลินทรีย์ที่ใส่ลงไปในปุ๋ยหมักมีปริมาณคงที่ จุลินทรีย์เหล่านี้นอกจากจะช่วยตรึงไนโตรเจนจากอากาศให้แก่พืชแล้ว ยังช่วยผลิตสารฮอร์โมนพืชเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของรากพืช และจุลินทรีย์บางชนิดยังสามารถควบคุมโรคพืชในดิน และกระตุ้นให้พืชสร้างภูมิคุ้มกันโรคอีกด้วย
...........  2) กลุ่มจุลินทรีย์ที่ตรึงไนโตรเจนจากอากาศ ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินมี 2 ผลิตภัณฑ์ คือ ไรโซเบียมสำหรับปอเทือง และไรโซเบียมสำหรับโสนอัฟริกัน ซึ่งผลิตภัณฑ์ 1 ซอง (100 กรัม) ต้องนำไปขยายเชื้อในกองปุ๋ยหมัก 100 กอโลกรัม เป็นเวลา 4 วันในที่ร่ม แล้วนำไปใช้ อัตรา 100 กิโลกรัมต่อไร่
...........  3) กลุ่มจุลินทรีย์ช่วยเพิ่มธาตุอาหารและฮอร์โมนพืช คือ ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 ซึ่งประกอดด้วยจุลินทรีย์ให้ธาตุไนโตรเจน ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุโพแทสเซียม และฮอร์โมนพืช ซึ่งผลิตภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพ พด 12 ใน 1 ซอง (100 กรัม) ต้องนำไปขยายเชื้อปุ๋ยหมัก 300 กิโลกรัม เป้นเวลา 4 วัน ในที่ร่ม และอัตราการใช้สำหรับข้าว 300 กิโลกรัมต่อไร่ พืชไร่ พืชผัก พืชอาหารสัตว์ ใช้อัตรา 300 กิโลกรัมต่อไร่ และในไม้ผลหรือไม้ยืนต้น ใช้อัตรา 3-5 กิโลกรัมต่อไร่
.........  4. การปรับปรุงบำรุงดินด้วยระบบพืชคลุมดิน (Cover cropping) คือ การปลูกหญ้าหรือพืชตระกูลถั่วคลุมดิน ซึ่งจะช่วยควบคุมการกร่อนของดิน และช่วยปรับปรุงบำรุงดินได้ เช่น การปลูกถั่วคุดซู (Kudzu) ถั่วคาโลโปโกเนียม (Calopogonium) และถั่วเวอราโน (Verano) ปลูกคลุมดิน จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นในดินได้
.........  5. การปรับปรุงดินด้วยระบบพืชเหลื่อมฤดู (Relay cropping) คือ การปลูกพืชต่อเนื่องคาบเกี่ยวกัน โดยพืชชนิดที่สองจะปลูกในระหว่างแถวของพืชแรกซึ่งอยู่ในช่วงสะสมน้ำหนักของผลผลิตแต่ยังสุกแก่ไม่เต็มที่
.........  6. การปรับปรุงบำรุงดินด้วยการปลูกพืชระหว่างแถบไม้พุ่มบำรุงดิน (Alley cropping) คือ การปลูกพืชระหว่างแถบไม้พุ่มบำรุงดิน ซึ่งเหมาะกับพื้นที่ที่มีความลาดชันน้อย และต้องการปลูกพืชตามแนวระดับ

ปริมาณธาตุอาหารพืชที่ได้จากวัสดุชนิดต่างๆ และอัตราแนะนำ

.........   * หมายถึง วัสดุเหลือใช้ที่ย่อยสลายง่ายและยาก
.........   ** หมายถึง มูลสัตว์ โค กระบือ ไก่ แกะ ม้า สุกร และ ค้างคาว
.........   *** หมายถึง ถั่วพร้า ถั่วพุ่ม ปอเทือง โสนอัฟริกัน และ ถั่วมะแฮะ

อัตราและวิธีการใช้พืชปุ๋ยสดเพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน
 
สรุปและข้อเสนอแนะ
.........   การปรับปรุงบำรุงดินเป็นการรักษาคุณภาพดินเพื่อให้ดินคงความอุดมสมบูรณ์ ใช้เพาะปลูกพืชได้อย่างยั่งยืน จำเป็นต้องปรับปรุงบำรุงดินอย่างต่อเนื่อง ถูกวิธี เหมาะสมกับลักษณะและสมบัติของดิน ในสภาพพื้นที่เพาะปลูก การปรับปรุงบำรุงดินที่มีสภาพไม่เหมาะสมต่อการเกษตรให้สามารถใช้ทำการเพาะปลูกได้ ควรใช้ ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์ หรือ ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี สามารถปรับปรุงบำรุงดินได้ทั้งด้านกายภาพ ด้านเคมี ด้านชีวภาพ และใช้ระบบการปลูกพืช นอกจากนี้การปรับปรุงบำรุงดิน โดยมีการตรวจสอบสมบัติของดินและการวิเคราะห์ดิน เพื่อให้ได้วิธีการปรับปรุงดินที่เหมาะสมก่อนการเพาะปลูกพืชต่อไป
   
สอบถามเพิ่มเติม
.........   กลุ่มวิจัยและพัฒนาการปรับปรุงบำรุงดิน กองวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
.........   โทรศัพท์/โทรสาร : 02-561-4516 สายด่วน 1760 ต่อ 2231