สาเหตุการเกิดความแห้งแล้ง
1.
เกิดจากการพัดพาของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาอันสั้น
และขาดความชื้นที่จะมาสนับสนุนให้เกิดฝนได้ ปริมาณฝนจะน้อยกว่าปกติ ทำให้เกิดสภาวะความแห้งแล้ง
2.
เกิดจากความผิดปกติของตำแหน่งร่องมรสุม ทำให้ฝนตกในพื้นที่ไม่ต่อเนื่อง
โดยปกติร่องมรสุมจะเคลื่อนที่ตามแนววงโคจรของดวงอาทิตย์ผ่านประเทศไทย 2
ช่วง คือ ช่วงเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม เคลื่อนจากทิศใต้ไปทิศเหนือ และเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายนจากทิศเหนือลงมาทิศใต้ซึ่งในการเคลื่อนที่ทั้ง
2 ช่วง จะทำให้เกิดฝนตกในบริเวณที่เคลื่อนผ่านอย่างต่อเนื่องแต่ในบางปีตำแหน่งของการเกิดร่องมรสุมจะไม่ต่อเนื่องและไม่ชัดเจน
จึงทำให้ปีนั้นปริมาณฝนจะน้อยกว่าปกติ
3.
เกิดจากความผิดปกติอันเนื่องมาจากพายุดีเปรสชั่นเคลื่อนผ่านประเทศไทยน้อยกว่าปกติ
โดยปกติประเทศไทยมีพายุดีเปรสชั่นเคลื่อนผ่าน เข้ามาในช่วงฤดูฝนปีละประมาณ
3-4 ลูก ถ้าปีใดประเทศไทยมีพายุดีเปรสชั่นเคลื่อนผ่านเข้ามาเพียง 1-2 ลูก
ปีนั้นประเทศไทยจะมีโอกาสเกิดความแห้งแล้ง
4.
เกิดจากสภาวะอากาศในฤดูร้อน ร้อนมากกว่าปกติ ซึ่งโดยปกติในช่วงฤดูร้อนบริเวณความกดอากาศสูงจากมหาสมุทรแปซิฟิคจะแผ่เข้ามาปกคลุมประเทศไทยเป็นครั้งคราว
และถ้าปีใดความกดอากาศสูงดังกล่าวแผ่เข้ามาปกคลุมบ่อยครั้งและติดต่อกันเป็นเวลานาน
อากาศของประเทศไทยในปีนั้นจะร้อนและเกิดความแห้งแล้งตามมา
ลมฟ้าอากาศที่เป็นเหตุให้ฝนตกในประเทศไทย
1.
ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ เป็นลมที่พัดมาจากไซบีเรียผ่านประเทศจีน
ซึ่งมีคุณสมบัติเย็นและแห้ง อีกส่วนหนึ่งผ่านทะเลจีนตอนใต้และอ่าวไทยจะนำความชุ่มชื้นมาสู่ภาคใต้
จึงทำให้ฝนตกชุกหนาแน่น ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป
2.
ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงกันยายน ประเทศไทยจะตกอยู่ใต้อิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้
เป็นลมที่พัดมาจากมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งมีคุณสมบัติร้อนและชุ่มชื้นทำให้ฝนตกทั่วทุกภาคของประเทศไทย
โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง จะมีฝนตกชุกและหนาแน่น
3.
ร่องมรสุมหรือร่องความกดอากาศต่ำ หรือมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า แนวปะทะโซนร้อน
ซึ่งเป็นแนวปะทะพาดไปรอบโลก ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการปะทะกันของมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้
แนวปะทะนี้จะเคลื่อนอยู่ระหว่างละติจูด 10 องศาใต้ ถึงละติจูด 25 องศาเหนือ
หรือเคลื่อนตามหลัง DECLINATION ดวงอาทิตย์ 4-6 สัปดาห์ ประเทศไทยจะได้รับปริมาณน้ำฝนจากร่องมรสุมนี้มาก
จะเห็นได้ชัดเจนในเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม
4.
พายุหมุนโซนร้อน ประเทศไทยรับผลกระทบจากพายุหมุน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีถิ่นกำเนิดบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิคและทะเลจีนใต้
ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อมาถึงประเทศไทยจะลดกำลังลงเหลือเป็นพายุดีเปรสชั่น นานๆ
จะมีพายุโซนร้อนหรือพายุไต้ฝุ่นผ่านมาสักครั้ง (เช่น ใต้ฝุ่นเกย์) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ภาคเหนือและภาคกลาง จะได้น้ำฝนจากอิทธิพลของพายุในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน
ส่วนภาคใต้จะได้รับอิทธิพลของพายุหมุนที่เกิดในทะเลจีนใต้หรือก่อตัวในอ่าวไทย
ในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม
ลักษณะภูมิอากาศของประเทศไทย
ลักษณะภูมิอากาศทั่วไป
ลักษณะภูมิอากาศของประเทศไทย
ถ้าแบ่งตามระบบการจำแนกประเภทภูมิอากาศของเคิปเปน (Koppens classification)
แล้วจะจัดอยู่ในภูมิอากาศเขตร้อน (Tropical climate) กล่าวคือ มีฝนตกมากและมีอุณหภูมิสูงตลอดปี
อุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนที่หนาวที่สุดสูงกว่า 18 องศาเซลเซียส ในภูมิอากาศเขตร้อนนี้
จะแบ่งเป็นเขตภูมิอากาศย่อยได้อีก 3 เขต คือ
(1)
ภูมิอากาศแบบร้อนชื้นสลับแล้ง หรือแบบทุ่งหญ้าสะวันนา (Tropical wet-dry
climate or Tropical savannah climate : Aw) พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยมีภูมิอากาศแบบร้อนชื้นสลับแล้ง
หรือแบบทุ่งหญ้าสะวันนา คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก
บริเวณทางเหนือและทางตะวันตกของภาคตะวันออก ในเขตนี้จะมีฤดูฝน และฤดูแล้งสลับกันและจะแตกต่างกันอย่างเด่นชัด
คือในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีฝนตกตลอดฤดู แต่ในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือหรือฤดูหนาวอากาศจะแห้งแล้ง
(2)
ภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน (Tropical monsoon climate : Am) เป็นภูมิอากาศที่มีฝนตกชุก
แต่จะมีอย่างน้อย 3 เดือนที่มีฝนตกน้อยกว่า 62 มิลลิเมตร (2.4 นิ้ว) พื้นที่ที่มีภูมิอากาศแบบนี้
ได้แก่บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตกของประเทศไทย และภาคตะวันออกบริเวณ จังหวัดจันทบุรี
และจังหวัดตราด
(3)
ภูมิอากาศแบบป่าฝนเขตร้อน (Tropical rainforest climate : Af) เป็นภูมิอากาศที่มีฝนตกชุกตลอดปี
โดยทั่วไปฝนตกมากกว่า 1,500 มิลลิเมตร/ปี ไม่มีเดือนใดเลยที่มีฝนตกน้อยกว่า
62 มิลลิเมตร (2.4 นิ้ว) ได้แก่ บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกตั้งแต่ จังหวัดชุมพรลงไปจนจดชายแดน
มาเลเซีย
ฤดูกาล
ประเทศไทยแบ่งได้เป็น 3 ฤดู คือ ฤดูฝน ฤดูหนาว และฤดูร้อน
(1)
ฤดูฝน เริ่มเมื่อลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทย คือ ประมาณกลางเดือนพฤษภาคม
แต่อาจจะเร็วหรือช้ากว่านี้ได้ถึง 2 สัปดาห์ และจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม
รวมเวลาประมาณ 5 เดือน
ในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ฝนจะตกชุกในเดือนสิงหาคม
และกันยายน ส่วนภาคใต้ของประเทศฝนจะตกชุกในเดือนพฤศจิกายน
(2)
ฤดูหนาว เริ่มเมื่อลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดเข้าสู่ประเทศไทย คือประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน
จนถึงประมาณกลางเดือนกุมภาพันธุ์ รวมเวลาประมาณ 3 เดือน ซึ่งฤดูหนาว ในแต่ละภาคจะมีลักษณะแตกต่างกัน
อากาศเย็นและแห้งแล้งจากประเทศจีน ซึ่งพัดมาจากทางทิศเหนือหรือทิศตะวันออกเฉียงเหนือจะมาถึงภาคเหนือ
และภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน จึงทำให้ภาคทั้งสองหนาวในฤดูหนาว ส่วนภาคกลางซึ่งอยู่ในละติจูดต่ำลงมาอากาศไม่หนาวเย็นมากนัก
ส่วนภาคใต้จะได้รับอิทธิพลจากอากาศหนาวเย็นของลมฝ่ายเหนือน้อยที่สุด
(3)
ฤดูร้อน เริ่มประมาณกลางเดือนกุมภาพันธุ์ไปจนถึงประมาณกลางเดือนพฤษภาคม
รวมเวลาประมาณ 3 เดือน เมื่อลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนืออ่อนกำลังลงในเดือนกุมภาพันธุ์กระแสลมจากทะเลจีนใต้ก็เริ่มพัดเข้าสู่ประเทศไทยทางทิศใต้
หรือทิศตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นระยะเวลาที่ดวงอาทิตย์กำลังเคลื่อนผ่านเส้นศูนย์สูตรขึ้นมาทางซีกโลกเหนือ
จึงเป็นระยะที่อากาศร้อนอบอ้าวและอาจจะมีพายุฤดูร้อนบ้างทางประเทศไทยตอนบน
ส่วนภาคใต้ซึ่งมีทะเลล้อมรอบ อิทธิพลจากทะเลช่วยบรรเทาความร้อนจนทำให้อากาศไม่ร้อนนัก